สร้างรายได้เงินล้านด้วย"เว็บไซต์" ตอนที่ 6 เรียนรู้องค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดี (Part2)
สร้างรายได้เงินล้านด้วย"เว็บไซต์" ตอนที่ 6 เรียนรู้องค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดี (Part2)

“จะทำอย่างไรให้สินค้าหรือบริการของท่านเข้าสู่ลูกค้าที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตได้  และสร้างรายได้เงินล้านได้ภายใน 1 ปี”
ตอนที่ 6   เรียนรู้องค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดี (Part2 ต่อ)

     สวัสดีครับสมาชิก ReadyPlanet ทุกท่าน ในตอนที่แล้วผมได้อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของการสร้างเว็บไซต์ที่ดีไปแล้วในส่วนของ Accessibility (กาเข้าถึงข้อมูล) และ Attractiveness (การสร้างความน่าดึงดูดใจ) ไปแล้วนะครับ

     ในตอนนี้ผมจะขอเล่าเพิ่มเติมในองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ อีก 2 ส่วนนะครับ คือ องค์ประกอบในเรื่องของ Speed (ความเร็วในการแสดงผล) และ Simplicity (ความง่ายในการใช้งาน) ใครที่ไม่ได้ติดตามในตอนที่แล้ว ก็สามารถไปอ่านกันได้ที่บทความ "เรียนรู้องค์ประกอบเว็บไซต์ที่ดี (Part1)" เสร็จแล้วอย่ารอช้า! ไปติดตามกันว่าองค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดีอีก 2 ส่วนนั้นมีอะไรบ้างในตอนนี้เลยครับ

องค์ประกอบเว็บไซต์ที่ดี
 

3. Speed –ความเร็วในการแสดงผล

     ในการเปิดเว็บไซต์แต่ละหน้า เว็บไซต์ที่ดีไม่ควรมีองค์ประกอบที่ทำให้ผู้เข้าชมเว็บใช้เวลาในการโหลดนานเกินไป เพราะธรรมชาติของผู้เข้าชมเว็บไซต์จะไม่มีความอดทนสูงมากนักในการค้นหาข้อมูลทาง Internet  (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ตอนที่ 2 รู้จักลูกค้า Online ให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง) ถ้าการเข้าถึงเว็บไซต์ทำให้เขาต้องเสียเวลามากเกินไป ผู้ชมท่านนั้นก็จะออกจากเว็บไปทันที  เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะปรับปรุงให้เว็บไซต์มีความเร็วที่สูงขึ้นในการแสดงผล มีดังนี้  คือ

 
 ระมัดระวังเรื่องขนาดของรูปภาพและไฟล์ (มีผลต่อความเร็ว) หากภาพหรือไฟล์บนเว็บไซต์นั้นมีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้เว็บไซต์ของท่านแสดงผลได้ช้าลง

 การใส่ภาพลงบนเว็บไซต์ ควรจะเลือกวิธี  “Save for Web” และบันทึกภาพให้มีนามสกุล  .JPG หรือ .GIF ระวัง! อย่าใช้ภาพนามสกุล .BMP  เพราะจะทำให้รูปภาพใบนั้นมีขนาดใหญ่จนเกินไป

 ในการใส่ไฟล์จำพวก Video และ Audio (ภาพและเสียง) อย่าให้ไฟล์เหล่านี้เล่นอัตโนมัติโดยทันที  แต่ให้มีปุ่ม “play” เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือกเล่นไฟล์นั้นได้ด้วยตัวเอง
 ในกรณีที่เลือกใช้บริการ Web Hosting ผมแนะนำให้เลือก Server หรือ Web Hosting ที่เร็วและมี Bandwidth มากพอ (Bandwidth  คือ ความเร็วในการรับและส่งข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต)
 การใส่ Code Banner, Counter หรือ การเขียน Code มาใส่บนเว็บไซต์นั้น ควรระวังเรื่องความเร็วและเสถียรภาพของระบบของ Server ของผู้ให้บริการ code ที่ท่านนำมาติดตั้งด้วย เช่น หาก server ของ code ที่นำมาติดล่มหรือโหลดช้า จะทำให้เว็บของท่านเปิดไม่ได้หรือโหลดช้าไปด้วย เป็นต้น
 การใช้ Flash หรือ Code ภาพเคลื่อนไหวต่างก็มีผลทำให้ใช้เวลาโหลดนานและอาจไม่สามารถแสดงผลในอุปกรณ์บางประเภท จึงควรจะทดสอบความเร็วของการแสดงผลของส่วนประกอบต่างๆ ก่อน รวมถึง preview การแสดงผลของเว็บไซต์ท่านก่อนเสมอ ก่อนที่จะโปรโมทเว็บไซต์ของท่านออกไป
 การใส่ Intro Page (หน้าต้อนรับก่อนเข้าสู่เว็บไซต์หลัก) อาจจะเป็นดาบสองคมสำหรับเว็บไซต์ของท่าน การสร้าง Intro Page  ก็ช่วยในการสร้างแบรนด์และการรับรู้ในตราสินค้าให้กับผู้เข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น แต่บางครั้งก็ทำให้ขั้นตอนในการเข้าเว็บไซต์นั้นซับซ้อนขึ้นด้วย


 4. Simplicity – ความง่าย

     เว็บไซต์ที่ดีควรแสดงถึง "ความง่ายของการจัดเรียงข้อมูล" ทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์นั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยง่าย ถ้าเว็บไซต์ของท่านนั้น มีการจัดเรียงข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบหรือไม่เป็นหมวดหมู่แล้ว ก็จะเพิ่มเวลาในการค้นหาของผู้เข้าชมเว็บไซต์ จนอาจมีผลให้เขาเหล่านั้น ออกจากเว็บไซต์ของท่านไปเลยก็เป็นได้  วิธีที่จะช่วยจัดเรียงโครงสร้างข้อมูลของเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น มีดังนี้ครับ

 แสดง "เมนู" และ "ปุ่ม" สำหรับคลิกชัดเจน

แสดงเมนู และปุ่มสำหรับคลิก ชัดเจน

 หลีกเลี่ยงการออกแบบที่ซับซ้อน เข้าใจยาก

 จัดทำหน้า Sitemap สำหรับผู้ใช้ เพื่อเป็นแผนที่บอกเส้นทางผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์

 ใช้แบบฟอร์มสำหรับติดต่อหรือสั่งซื้อ เพื่อให้ง่ายต่อเจ้าของเว็บไซต์ ที่จะติดต่อกลับไปที่ลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลสินค้าและบริการเพิ่มเติมได้

ใช้แบบฟอร์มสำหรับติดต่อหรือสั่งซื้อ
ตัวอย่างแบบฟอร์มติดต่อกลับในหน้าสินค้าบนร้านค้าออนไลน์ระบบ VelaClassic
 

 การสร้างแบบฟอร์ม ต้องไม่บังคับให้ผู้กรอกฟอร์มใส่ข้อมูลเยอะเกินไป

 ใช้ Breadcrumb Navigation เพื่อเป็นการนำทางแก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้เข้าถึงข้อมูลโดยง่าย

ใช้ Breadcrumb Navigation
ตัวอย่างเมนู Breadcrumb Navigation ซึ่งแสดงผลตามการจัดประเภทหมวดหมู่สินค้า
ในระบบร้านค้าออนไลน์ VelaClassic บนเว็บไซต์
www.shopat7.com
 

 ควรสร้าง Link ไปหน้า HomePage จากทุกหน้า เพื่อให้ผู้เข้าชมนั้นสามารถคลิกกลับมาเริ่มต้นที่หน้าแรกของเว็บไซต์ได้อย่างไม่ยุ่งยาก

 สร้าง Menu ด้านล่าง (Footer Menu) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าชมเว็บไซต์ ให้สามารถเข้าสู่เมนูได้แม้จะอยู่ด้านล่างของหน้า โดยไม่ต้อง Scroll กลับบขึ้นไปด้านบน

สร้าง Menu ด้านล่าง ( Footer Menu)
ตัวอย่าง Footer Menu ในเว็บไซต์ www.ReadyPlanet.com

     สำหรับตอนหน้า ผมจะแนะนำองค์ประกอบสุดท้ายในการทำเว็บไซต์ที่ดีแล้วนะครับ รับรองได้ว่า ถ้าทุกท่านนำความรู้ทั้งหมดที่ทาง ReadyPlanet นำเสนอ ไปประยุกต์ใช้ในการทำเว็บไซต์แล้ว เว็บไซต์ของท่านจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ไม่ควรพลาดเลยสักตอนกับบทความดีๆ ในคอลัมน์ "เคล็ด(ไม่)ลับกับการทำธุรกิจออนไลน์" แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

7 May 2013
พี่ปั้น ReadyPlanet.com

 




เทคนิคการตลาดออนไลน์